บทนำสู่ทฤษฏีคลื่นเอลเลียตต์ (Elliott Wave Theory)

อ่านบทความบนเว็บไซต์ของ FBS

ทฤษฎีคลื่นเอลเลียตต์ (Elliott Wave Theory) คืออะไร?

ทฤษฎีคลื่นเอลเลียตต์ (Elliott Wave Theory) เป็นทฤษฎีการวิเคราะห์ทางเทคนิคที่ใช้ในการระบุและอธิบายคลื่นต่าง ๆ ซึ่งเป็นการเคลื่อนไหวของราคาแบบแฟร็กทัลที่เกิดซ้ำ ๆ ในระยะยาวในตลาดการเงิน ปัจจุบันคลื่นเอลเลียตต์เป็นหนึ่งในเครื่องมือยอดนิยมที่ใช้สำหรับการคาดการณ์ Forex นอกจากนี้ จากประสบการณ์ของเราแล้วมันยังเป็นเครื่องมือเดียวที่สามารถจัดเรียงการเคลื่อนไหวของราคาในทุกกรอบเวลาได้ ตั้งแต่แผนภูมิรายเดือนหรือรายปีไปจนถึงกรอบเวลาหนึ่งนาทีในช่วงระหว่างวัน

ในบทความนี้ คุณจะได้เรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับวิธีการทำงานของทฤษฎีคลื่นเอลเลียตต์, คลื่นประเภทต่าง ๆ ในทฤษฎีนี้ และวิธีการใช้คลื่นเอลเลียตต์ในการซื้อขาย

ใครเป็นผู้เขียนทฤษฎีนี้ขึ้นมา?

ทฤษฎีคลื่นเอลเลียตต์ถูกพัฒนาขึ้นโดยนักเศรษฐศาสตร์และนักบัญชีที่มีชื่อเสียงอย่าง ราล์ฟ เนลสัน เอลเลียตต์ (Ralph Nelson Elliott) (ค.ศ. 1871 ― ค.ศ. 1948) เขาได้ทำการศึกษาข้อมูลตลาดหุ้นอย่างเป็นระบบ และในปี ค.ศ. 1938 ได้ตีพิมพ์หนังสือชื่อ ‘The Wave Principle’ ('หลักการคลื่น') ออกมา โดยเขาได้เขียนรายละเอียดเกี่ยวกับสิ่งต่าง ๆ ที่เขาค้นพบ ในหนังสือของเขา เขาระบุว่าแม้ตลาดหุ้นอาจดูคาดเหมือนว่าจะเดาไม่ได้ แต่จริง ๆ แล้วราคาเคลื่อนไหวไปตามกฎธรรมชาติที่กำหนดไว้แล้วล่วงหน้า และสามารถประเมินได้โดยใช้ตัวเลขฟีโบนักชีมาช่วย เอลเลียตต์ได้อธิบายถึงกฎธรรมชาติเหล่านี้ด้วยเช่นกัน และในผลงานตีพิมพ์ถัดมาของเขาก็อธิบายว่าวิธีการคาดการณ์ตลาดของเขาทำงานอย่างไร

ปัจจุบัน เทรดเดอร์ส่วนใหญ่ปฏิบัติตามกฎและแนวทางต่าง ๆ ตามหนังสือที่ชื่อว่า 'Elliott Wave Principle: Key to Market Behavior' (หลักการคลื่นเอลเลียตต์: กุญแจสู่พฤติกรรม) ซึ่งเขียนโดย Robert R. Prechter Jr. และ A.J. Frost

ทำความเข้าใจกับทฤษฎีคลื่นเอลเลียตต์

เอลเลียตต์ได้ตรวจสอบข้อมูลราคาของระยะเวลาเจ็ดสิบห้าปีอย่างระมัดระวังในขณะที่ศึกษาข้อมูลตลาดหุ้น ตั้งแต่กราฟดัชนีรายปีไปจนถึงรายครึ่งชั่วโมง ในหนังสือของเขา เขาได้ตั้งกฎเกี่ยวกับวิธีการระบุและทำนายรูปแบบคลื่นในการเคลื่อนไหวของราคา และวิธีการทำกำไรสูงสุดจากรูปแบบเหล่านี้ ปัจจุบัน ทฤษฎีของเขาถูกใช้โดยผู้จัดการพอร์ตโฟลิโอ เทรดเดอร์ นักลงทุนเอกชน ตลอดจนบริษัทที่วิเคราะห์ทางการเงินและการคาดการณ์ตลาดทั่วโลก

ในขณะเดียวกัน เอลเลียตต์ก็เตือนคนอื่น ๆ ว่าอย่ารูปแบบเหล่านี้สุ่มสี่สุ่มห้า เนื่องจากมันไม่มีการรับประกันว่าราคาจะเคลื่อนไหวไปในทิศทางที่เป็นไปได้เพียงทิศทางเดียว ซึ่งถ้าพูดให้ถูกก็คือ คลื่นเอลเลียตต์ช่วยให้เทรดเดอร์ได้เข้าใจความน่าจะเป็นของการเคลื่อนไหวของตลาดในอนาคต โดยการรวมเครื่องมือนี้เข้ากับวิธีการวิเคราะห์ทางเทคนิคอื่น ๆ นั้นย่อมดีกว่า เพื่อให้ได้ภาพที่ชัดเจนยิ่งขึ้นเกี่ยวกับสถานการณ์ตลาด

คลื่นเอลเลียตต์ทำงานอย่างไร

ตามทฤษฎีคลื่นเอลเลียตต์ ราคาของหุ้นเคลื่อนไหวในลักษณะขึ้นและลงซ้ำ ๆ คล้ายกับคลื่น ซึ่งสิ่งนี้ควรที่จะทำให้ง่ายต่อการคาดการณ์เหมือนกับคลื่น รูปแบบเหล่านี้เกิดขึ้นพร้อมกับความถี่ที่สามารถคำนวณและคาดการณ์ได้หากคุณทราบกฎที่เกี่ยวข้อง เอลเลียตต์กล่าวว่าการแกว่งตัวของราคาเหล่านี้เกิดขึ้นมาจากจิตวิทยาของนักลงทุนโดยรวม

เอลเลียตต์ไม่ได้เป็นคนแรกที่สรุปว่าราคาหุ้นเคลื่อนไหวเป็นระลอกเหมือนคลื่น ซึ่งได้มีการแสดงความคิดเห็นนี้ไว้ในทฤษฎีดาว (Dow theory) เมื่อหลายสิบปีก่อน แต่สิ่งที่เอลเลียตต์ค้นพบก็คือตลาดการเงินนั้นเป็นแฟร็กทัล หมายความว่าราคาในตลาดเกิดขึ้นวนแบบนั้นซ้ำ ๆ อย่างไม่รู้จบ สิ่งนี้ทำให้เขาจับตาดูรูปแบบที่เกิดขึ้นซ้ำ ๆ เหล่านี้อย่างใกล้ชิดและวิเคราะห์ว่าสามารถนำมาใช้คาดการณ์การเคลื่อนไหวของราคาในอนาคตได้หรือไม่

การคาดการณ์ตลาดตามรูปแบบของคลื่น

หลังจากการศึกษาอย่างละเอียด เอลเลียตต์ก็สรุปได้ว่ามีคลื่นสองประเภทที่แตกต่างกันในตลาดการเงิน: คลื่น Motive (หรือคลื่น Impulse) หรือ "คลื่นส่ง" และคลื่น Corrective หรือ "คลื่นปรับ" คลื่นส่งปรากฏขึ้นในทิศทางเดียวกับแนวโน้มหลัก และมักจะประกอบด้วยคลื่น 5 คลื่นในรูปแบบนี้ ในทางกลับกัน คลื่นปรับจะเกิดขึ้นในทิศทางตรงกันข้ามกับแนวโน้มหลัก ลักษณะเฉพาะของรูปแบบคลื่นเหล่านี้ตามที่เอลเลียตต์ค้นพบ สามารถช่วยในการคาดการณ์ของตลาดได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อต้องทำนายทิศทางหลักของราคาและความเป็นไปได้ของการปรับฐานที่สวนทางกับแนวโน้ม

คลื่นส่ง (Impulse wave)

คลื่นส่งเป็นหนึ่งในสองรูปแบบคลื่นที่กำหนดขึ้นโดยราล์ฟ เนลสัน เอลเลียตต์ คลื่นส่งจะสอดคล้องกับทิศทางหลักของการเคลื่อนไหวของราคา โดยในแนวโน้มขาขึ้น หมายถึง การเคลื่อนไหวขาขึ้น และในแนวโน้มขาลง หมายถึง การเคลื่อนไหวขาลง คลื่นส่งสามารถใช้ทำนายทิศทางในอนาคตของแนวโน้มได้ และโดยทั่วไปถือว่าเป็นรูปแบบที่ยืนยันแนวโน้ม

คลื่นส่งประกอบด้วยคลื่นย่อย 5 คลื่นที่เคลื่อนไปในทิศทางเดียวกับแนวโน้มหลัก โดยคลื่น 3 คลื่นเป็นคลื่นส่งและเคลื่อนไหวไปในทิศทางของแนวโน้มหลัก ในขณะที่คลื่นอีก 2 คลื่นเป็นคลื่นปรับ

เนื่องจากรูปแบบคลื่นส่งเป็นรูปแบบที่ประกอบด้วยคลื่นย่อย 5 คลื่น แต่ละคลื่นจะบ่งบอกถึงความสนใจของผู้คนต่อหุ้นในระยะต่าง ๆ ไปดูกราฟกัน ในช่วงคลื่นที่ 1 มีผู้คนจำนวนไม่มากที่ซื้อหุ้น ซึ่งทำให้ราคาสูงขึ้น จากนั้น เมื่อเทรดเดอร์เหล่านี้คิดว่าราคาได้พุ่งขึ้นมามากพอแล้ว พวกเขาก็เริ่มขาย ซึ่งทำให้ราคาลดลงเล็กน้อย และคลื่นที่ 2 ซึ่งเป็นคลื่นปรับก็ปรากฏขึ้น หลังจากนี้คลื่นที่ 3 ก็จะตามมา หมายความว่าผู้คนทั่วไปสนใจหุ้นนี้และเริ่มเข้าซื้อกัน ราคาจะสูงขึ้นเรื่อย ๆ และมักจะราคาสูงกว่าคลื่นที่ 1 โดยปกติแล้ว เมื่อเทรดเดอร์พิจารณาว่าหุ้นราคาสูงขึ้นอีกครั้ง พวกเขาก็ขายมัน ทำให้เกิดคลื่นที่ 4 ที่เป็นคลื่นปรับอีกครั้ง แต่อ่อนแอกว่ามาก คลื่นสุดท้ายของรูปแบบนี้ คลื่นที่ 5 บ่งบอกว่าความสนใจต่อหุ้นนั้นมีมากที่สุด ทำให้ราคาพุ่งขึ้นไปสูงมาก

แต่เทรดเดอร์ควรตระหนักให้ดีว่าคลื่นส่งจะก่อตัวขึ้นตามกฎเฉพาะเท่านั้น หากมันไม่ได้เป็นไปตามกฎเหล่านี้ การก่อตัวบนกราฟก็จะไม่ใช่คลื่นส่ง กฎเหล่านี้คือ:

  • คลื่นที่ 2 ต้องไม่เคลื่อนลงไปต่ำกว่า 100% ของคลื่นที่ 1
  • คลื่นที่ 3 ต้องยาวกว่าคลื่นที่ 1 หรือคลื่นที่ 5 อย่างใดอย่างหนึ่ง
  • คลื่นที่ 4 ต้องไม่ซ้อนทับกับคลื่นที่ 1

หากเป็นไปตามกฎเหล่านี้ ก็เป็นไปได้สูงว่าการก่อตัวที่คุณเห็นในกราฟนั้นเป็นคลื่นส่งจริง ๆ

คลื่นปรับ (Corrective wave)

หลังจากที่ได้เห็นรูปแบบคลื่นส่ง 5 คลื่นไปแล้ว คุณก็คาดเดาได้เลยว่าจะได้เห็นรูปแบบคลื่นปรับ 3 คลื่นตามมา คลื่นปรับจะเคลื่อนไหวสวนทางกับแนวโน้ม โดยกลับตัวจากจุดสูงสุดหรือต่ำสุดที่เคยไปถึงก่อนหน้านี้

คลื่นปรับประกอบด้วยคลื่นย่อย 3 คลื่น คือ คลื่นปรับ 2 คลื่นและคลื่นส่งที่อ่อนแอ 1 คลื่น

เอลเลียตต์กล่าวไว้ว่ามีรูปแบบของคลื่นปรับนั้นมี 21 รูปแบบด้วยกัน บางรูปแบบก็เข้าใจง่าย บางรูปแบบก็ซับซ้อน แต่ทั้งหมดสามารถแบ่งได้เป็นสามประเภทหลัก ๆ ด้วยกัน

  1. รูปแบบซิกแซ็ก (Zig-zags) การก่อตัวของรูปแบบซิกแซ็กประกอบด้วยคลื่นย่อยสามคลื่น โดยคลื่นย่อยที่เป็นคลื่นส่งจะสั้นที่สุดเมื่อเทียบกับคลื่นย่อยที่เป็นคลื่นปรับ รูปแบบซิกแซ็กสามารถเชื่อมเข้าด้วยกันได้และเกิดขึ้นหลายครั้งติดต่อกันภายในการปรับฐานหนึ่งครั้ง
  2. รูปแบบราบเรียบ (Flats) ในรูปแบบราบเรียบ คลื่นทั้งหมดจะมีความยาวเท่ากัน คลื่นแต่ละลูกที่ตามมาจะเป็นการสะท้อนกลับการเคลื่อนที่ของคลื่นก่อนหน้า
  3. รูปแบบสามเหลี่ยม (Triangles) ในการก่อตัวของรูปแบบสามเหลี่ยมนั้น รูปแบบคลื่นปรับจะถูกจำกัดโดยเส้นแนวโน้มที่บรรจบกันหรือแยกออกจากกัน คลื่นในรูปแบบสามเหลี่ยมเคลื่อนที่ไปทางด้านข้างกับแนวโน้ม ซึ่งขึ้นอยู่กับทิศทางของการเคลื่อนไหวของราคา รูปแบบสามเหลี่ยมสามารถเป็นได้ทั้งขาขึ้น (Bullish) ขาลง (Bearish) หรือสมมาตร (สามารถเคลื่อนไปทิศทางใดก็ได้)

สิ่งที่ต้องพิจารณาเป็นพิเศษ

เอลเลียตต์ตั้งข้อสังเกตว่าจำนวนของคลื่นส่งหรือคลื่นปรับมีความสัมพันธ์กับลำดับฟีโบนักชีจริง ๆ และการเคลื่อนไหวของคลื่นเหล่านี้ภายในกราฟก็ตรงกับอัตราส่วนฟีโบนักชี

มีตัวบ่งชี้ทางเทคนิคมากมายที่อิงตามทฤษฎีคลื่นเอลเลียตต์ ตัวอย่างเช่น Elliott Wave Oscillator ที่เป็นการผสมผสานของคลื่นเอลเลียตต์และเส้นค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่เพื่อทำนายทิศทางการเคลื่อนไหวของราคาในอนาคตได้แม่นยำยิ่งขึ้น

คุณจะเทรดโดยใช้ทฤษฎีคลื่นเอลเลียตต์ได้อย่างไร?

ทฤษฎีคลื่นเอลเลียตต์สามารถช่วยให้คุณกำหนดสิ่งที่ต้องทำเพื่อให้การเทรดของคุณประสบความสำเร็จและได้กำไร ตัวอย่างเช่น หากคุณเห็นคลื่นส่งในแนวโน้มขาขึ้น คุณอาจอยากเข้าซื้อหุ้นและขายมันเมื่อคลื่นย่อยที่ 5 สิ้นสุดลง หากรูปแบบคลื่นสิ้นสุดลงแล้ว คุณก็อาจรอการเกิดซ้ำของรูปแบบคลื่น เนื่องจากรูปแบบเหล่านี้เป็นรูปแบบแฟร็กทัลและเกิดซ้ำ ๆ หลังจากผ่านไประยะเวลาหนึ่ง

จุดเริ่มต้นของการเดินทาง

ตอนนี้เราเข้าใจแล้วว่าทฤษฎีคลื่นเอลเลียตต์คืออะไร ทีนี้ก็มาดูกันดีกว่าว่าคุณจะนำมันไปประยุกต์ใช้ในทางปฏิบัติได้อย่างไร คำอธิบายต่อไปนี้ใช้กฎและแนวทางจาก 'Elliott Wave Principle: Key to Market Behavior' แต่ตัวอย่างทั้งหมดเรานำมาจากตลาดจริง

LEGO ของตลาด

ดังที่เราได้เรียนรู้ไปแล้ว ทฤษฎีคลื่นเอลเลียตต์ประกอบด้วย 2 องค์ประกอบด้วยกัน: คลื่นส่ง หรือคลื่น Impulse (การเคลื่อนไหวของราคาแบบ 5 คลื่น) และคลื่นปรับ หรือคลื่น Corrective (การเคลื่อนไหวของราคาแบบ 3 คลื่น)

ลองดูที่กราฟด้านล่างนะ คุณจะเห็นว่ามีรูปแบบ 5 คลื่นที่ร่วงลง – นั่นคือคลื่นส่ง (บางกรณีก็อาจเป็นรูปแบบคลื่นปรับ 5 คลื่นได้) นอกจากนี้ยังมีรูปแบบ 3 คลื่นที่พุ่งขึ้น ซึ่งเราสามารถพิจารณาว่าเป็นการปรับฐานได้ ตอนนี้เราได้พบคลื่นส่งและคลื่นปรับแล้ว ก็ถึงเวลาที่จะมาดูภาพรวมกัน

กราฟถัดไปเป็นการนับคลื่นจริง คลื่นที่ 3 ของคลื่นส่งขาลงน่าจะเป็นคลื่นส่งและยังคงร่วงลงในขณะที่คลื่นที่ 4 ดีดตัวขึ้น

สิ่งนี้ทำให้เราได้ข้อสรุปดังต่อไปนี้: คลื่นทั้งหลายไม่สามารถแยกออกจากกันได้ คลื่นเอลเลียตต์เปรียบเสมือนตุ๊กตาแม่ลูกดกของรัสเซีย (Matryoshka) คลื่นแต่ละคลื่นล้วนเป็นส่วนหนึ่งของอีกคลื่นหนึ่ง แถมคลื่นแต่ละคลื่นยังประกอบไปด้วยคลื่นย่อย ๆ ในตัวมันเองอีกด้วย สิ่งนี้ใช้ได้กับทั้งกรอบเวลาที่ใหญ่ขึ้นและเล็กลง

และนี่ทำให้ทฤษฎีคลื่นเอลเลียตต์แตกต่างจากการวิเคราะห์ตลาดด้วยวิธีอื่น ๆ แนวทางการวิเคราะห์ทางเทคนิคส่วนใหญ่มุ่งเน้นไปที่รูปแบบและสัญญาณที่อยู่ห่างกันและไม่เกี่ยวข้องกัน พลังของทฤษฎีคลื่นเอลเลียตต์ คือการที่มันช่วยให้เทรดเดอร์สามารถมองเห็นภาพที่ใหญ่ขึ้นได้ ไม่ใช่มองเห็นแค่การตั้งค่าหนึ่ง ๆ เพียงอย่างเดียวเท่านั้น

โอกาสในการคิด

คุณคงเคยได้ยินว่าหากคุณใช้ทฤษฎีคลื่นเอลเลียตต์ในการซื้อขาย คุณจะสามารถนับจำนวนคลื่นที่เป็นไปได้ได้มากกว่าหนึ่งคลื่น โดยปกติแล้ว คุณก็จะพบกับสถานการณ์ที่เป็นไปได้อยู่สองสามสถานการณ์ และบางครั้งก็ดูเหมือนจะขัดแย้งกัน แต่นี่เป็นสิ่งที่น่าตื่นเต้นที่สุดเกี่ยวกับทฤษฎีคลื่นเอลเลียตต์ เพราะมันเหมือนกับการเล่นหมากรุก ที่คุณต้องคิดก้าวต่อไปก่อนที่จะเดินหมาก

หากตัวบ่งชี้ที่เป็นดั่งจอกศักดิ์สิทธิ์บอกให้คุณซื้อหรือขาย คุณก็จะไม่คิดว่าจะทำอะไรต่อไปหากการซื้อขายนั้นไม่เป็นไปตามแผน โดยกับทฤษฎีคลื่นเอลเลียตต์แล้ว คุณจะต้องคิดเกี่ยวกับสิ่งที่ต้องทำในขั้นต่อไปโดยขึ้นอยู่กับจำนวนคลื่นที่มีอยู่ในขณะนั้น นี่คือทักษะที่สำคัญของเทรดเดอร์ที่ประสบความสำเร็จ

ตัวอย่างจริง

มาดูตัวอย่างจริงกันบ้าง ตัวอย่างแรกคือดัชนี DJI ในเดือนกันยายน ปี 2016 ดัชนีพุ่งไปถึงจุดสูงสุดเป็นประวัติการณ์ และฉันก็พบกับรูปแบบคลื่นที่เป็นขาขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ฉันคาดว่าตลาดจะพุ่งสูงขึ้นกว่านี้มากเพราะอีกนานกว่าคลื่นที่ 5 จะสิ้นสุดลง

ไม่กี่เดือนต่อมา ตลาดก็ไต่สูงขึ้นไปกว่าเดิม แต่ฉันยังคงยึดมั่นอยู่กับกลยุทธ์ขาขึ้น การคาดการณ์นี้มีพื้นฐานมาจากบางสิ่งในทฤษฎีคลื่นเอลเลียตต์ที่เรากำลังจะได้เรียนรู้ในเร็วๆ นี้ แต่สำหรับตอนนี้ คุณจะเห็นได้ว่ามันทำงานอย่างไร

ในท้ายที่สุด แนวโน้มก็ยังคงเป็นขาขึ้น และคุณสามารถดูจำนวนคลื่นปัจจุบันได้ที่ด้านล่าง

ตัวอย่างที่สองคือ USD/TRY ในเดือนตุลาคม ปี 2016 คลื่นสามเหลี่ยมที่ 4 ดูเหมือนจะสิ้นสุดลงแล้ว ดังนั้นฉันจึงคาดว่าจะมีคลื่นส่งที่เป็นขาขึ้นอีกครั้ง ซึ่งจะเกิดขึ้นในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า

หลังจากนี้ก็มีการปรับฐานเป็นขาลงเป็นเวลานาน ซึ่งในที่สุดก็สิ้นสุดลง และแนวโน้มขาขึ้นก็ดำเนินต่อไปตามที่คาดการณ์ไว้

ในที่สุดในเดือนเมษายน ปี 2018 ก็มีการแกว่งตัวเป็นขาขึ้นอีกครั้งเพราะดูเหมือนว่าคลื่นที่ 4 ใกล้จะสิ้นสุดลงแล้ว เป็นผลให้ตลาดไต่ขึ้นมาสูงกว่าเดิมเสียอีก

ความนิยมของทฤษฎีคลื่นเอลเลียตต์

ถึงแม้ว่าจะมีการนำเสนอทฤษฎีนี้ให้สาธารณชนทั่วไปได้รู้จักในช่วงปลายทศวรรษที่ 1930 แต่ทฤษฎีคลื่นเอลเลียตต์ก็ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในช่วงทศวรรษที่ 1970 เท่านั้น จากนั้นจึงถูกนำมาใช้เพื่อทำนายตลาดกระทิงในช่วงปี 1980 และการพังทลายของปี 1987 ปัจจุบันทฤษฎีคลื่นเอลเลียตต์ถือเป็นหนึ่งในเครื่องมือวิเคราะห์ทางเทคนิคแบบคลาสสิกและเทรดเดอร์ทั่วโลกนำมาใช้กันอย่างแพร่หลาย

สรุป

ทฤษฎีคลื่นเอลเลียตต์เป็นหนึ่งในวิธีการคาดการณ์การเคลื่อนไหวของราคาในอนาคตที่ได้รับความนิยมมากที่สุด ซึ่งมันดูเหมือนว่าจะตรงไปตรงมา แต่ในความเป็นจริงแล้วมันไม่ได้ง่ายขนาดนั้น เทรดเดอร์จำเป็นต้องรู้กฎมากมายเกี่ยวกับคลื่นเอลเลียตต์เพื่อที่จะสามารถระบุคลื่นต่าง ๆ บนกราฟได้อย่างถูกต้อง นอกจากนี้มันยังค่อนข้างยากที่จะคาดการณ์ว่าคลื่นจะสิ้นสุดลงเมื่อใดและการวางแผนการเคลื่อนไหวครั้งต่อไปของคุณให้สอดคล้องกันกับคลื่นนี้ก็ไม่ง่ายเลย ดังนั้นเพื่อที่จะใช้วิธีนี้ให้มีศักยภาพสูงสุด คุณควรใช้มันร่วมกับเครื่องมือวิเคราะห์ทางเทคนิคอื่น ๆ

เริ่มการเทรด

อัปเดทแล้ว • 2023-05-26

บทความอื่นๆ ในส่วนนี้

FBS เก็บรักษาข้อมูลของคุณไว้เพื่อใช้งานเว็บไซต์นี้ เมื่อกดปุ่ม "ยอมรับ" ถือว่าคุณยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว ของเรา