-
McClellan Oscillator ทำอะไรได้บ้าง?
McClellan Oscillator เป็นตัวบ่งชี้ Market breadth ที่วัดความแตกต่างระหว่างหุ้นที่พุ่งขึ้นและร่วงลงในตลาดหุ้น ช่วยให้เทรดเดอร์ประเมินความแข็งแกร่งหรือความอ่อนแอโดยรวมของตลาดและระบุจุดกลับตัวที่อาจเกิดขึ้น ด้วยการใช้ McClellan Oscillator ในการวิเคราะห์ เทรดเดอร์สามารถรับข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับอารมณ์ความเชื่อมั่นของตลาดและทำการตัดสินใจซื้อขายอย่างฉลาดปราดเปรื่องได้
-
McClellan Oscillator แม่นยำไหม?
ความแม่นยำของ McClellan Oscillator อาจแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับสภาวะตลาดและการตีความของเทรดเดอร์ แม้ว่าจะเป็นตัวบ่งชี้ Market breadth ที่ได้รับความนิยมซึ่งสามารถให้ข้อมูลเชิงลึกที่มีค่าเกี่ยวกับอารมณ์ความเชื่อมั่นของตลาดและการกลับตัวที่อาจเกิดขึ้นได้ สิ่งสำคัญคือต้องใช้มันร่วมกับเครื่องมือและตัวบ่งชี้การวิเคราะห์ทางเทคนิคอื่น ๆ เพื่อการประเมินตลาดได้อย่างครอบคลุมมากขึ้น
-
ความแตกต่างระหว่าง MACD และ McClellan Oscillator คืออะไร?
ข้อแตกต่างที่สำคัญระหว่าง MACD (Moving Average Convergence Divergence) และ McClellan Oscillator คือการคำนวณและจุดประสงค์ ในขณะที่ทั้งสองเป็นตัวบ่งชี้ทางเทคนิคที่ใช้ในการซื้อขายเหมือนกัน MACD มุ่งเน้นไปที่การหาคอนเวอร์เจนซ์และไดเวอร์เจนซ์ของค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ เพื่อระบุการเปลี่ยนแปลงของแนวโน้ม ในขณะที่ McClellan Oscillator จะวิเคราะห์ Market breadth โดยการเปรียบเทียบหุ้นที่พุ่งขึ้นและร่วงลง เพื่อประเมินความแข็งแกร่งหรืออ่อนแอของตลาด ตัวบ่งชี้แต่ละตัวให้ข้อมูลเชิงลึกเฉพาะที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของตลาด และสามารถใช้ร่วมกับเครื่องมืออื่น ๆ เพื่อการวิเคราะห์ที่ครอบคลุมได้
McClellan Oscillator
ตัวบ่งชี้ Market breadth เป็นเครื่องมือวิเคราะห์ทางเทคนิคที่มีประสิทธิภาพสำหรับเทรดเดอร์ โดยตัวบ่งชี้นี้สามารถระบุได้ว่าทิศทางของตลาดเป็นขาขึ้น ขาลง หรือเป็นกลาง ซึ่งตัวบ่งชี้เหล่านี้มีประโยชน์มาก เพราะมักจะเปลี่ยนทิศทางก่อนดัชนีตลาดหลัก ๆ และทำงานได้ดีในช่วงที่พุ่งขึ้นสูงสุด
คุณลักษณะเฉพาะอย่างหนึ่งของตัวบ่งชี้ Market breadth คือการที่มันมีประสิทธิภาพในการวิเคราะห์หุ้นและดัชนีมากกว่า อีกประการหนึ่งคือส่วนใหญ่จะถูกใช้สำหรับการเทรดแบบสวิงและการเทรดระยะยาว ในกรณีใดๆ ก็ตาม ตัวบ่งชี้ Market breadth ควรค่าแก่การพิจารณาอย่างใกล้ชิด หนึ่งในตัวบ่งชี้ยอดนิยมคือ McClellan Oscillator (MO)
McClellan Oscillator คืออะไร?
Sherman และ Marian McClellan ได้คิดค้น McClellan Oscillator (MO) ในปี 1969 และอธิบายตัวบ่งชี้นี้อย่างละเอียดในหนังสือ Patterns for Profit: The McClellan Oscillator and Summation Index
MO เป็นหนึ่งในตัวบ่งชี้ Market breadth ที่เป็นที่ต้องการมากที่สุดซึ่งใช้สำหรับการวิเคราะห์ทางเทคนิค โดยตัวบ่งชี้ได้รับการออกแบบมาเพื่อวิเคราะห์ช่วงตลาดที่อิงจากส่วนต่างระหว่างจำนวนหุ้นที่พุ่งขึ้นและร่วงลงในตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ก (NYSE) และ NASDAQ
MO ขึ้นอยู่กับความแตกต่างระหว่างค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่แบบเอกซ์โปเนนเชียล (EMA) ที่เร็วขึ้นและช้าลง โดยมีระยะเวลา 19 และ 39 ตามลำดับ ตัวบ่งชี้สามารถเป็นได้ทั้งค่าบวกและค่าลบ หาก EMA ระยะสั้นสูงกว่า EMA ระยะยาว ค่าของตัวบ่งชี้จะเป็นบวก และแนวโน้มจะเป็นขาขึ้น ในทางตรงกันข้าม หาก EMA ระยะสั้นต่ำกว่า EMA ระยะยาว ตัวบ่งชี้จะเป็นลบ และแนวโน้มจะเป็นขาลง
ยิ่งความแตกต่างระหว่าง EMA มีมากเท่าใด ตัวบ่งชี้ MO ก็จะยิ่งเบี่ยงเบนจาก 0 มากขึ้นเท่านั้น
วิธีการติดตั้ง McClellan Oscillator
McClellan Oscillator เป็นตัวบ่งชี้ที่กำหนดเองซึ่งไม่ได้ติดตั้งมาในตัวกับเทอร์มินัลการซื้อขาย MetaTrader ตามค่าเริ่มต้น ในการใช้มัน คุณจะต้อง
- ดาวน์โหลดไฟล์: https://www.mql5.com/en/code/24352
- ติดตั้งที่ MetaTrader 5 ของคุณ
- เปิดหน้าตัวบ่งชี้และค้นหา McClellan Oscillator ในรายการตามตัวอักษร
- เพิ่มตัวบ่งชี้ McClellan ลงในกราฟ
วิธีการคำนวณ McClellan Oscillator
MO สามารถคำนวณได้ในสามขั้นตอน
- ขั้นแรก คุณต้องคำนวณค่าเฉลี่ยอย่างง่ายสำหรับจำนวนหุ้นที่พุ่งขึ้นและร่วงลง ค่าเหล่านี้เป็นค่า EMA ในวันก่อนหน้าของ EMA 19 วัน และ EMA 39 วัน
- ถัดไปให้คำนวณ EMA 19 วัน และ EMA 39 วัน โดยใช้สูตรที่จะกล่าวถึงต่อจากนี้ในบทความ
- และขั้นตอนสุดท้าย ลบค่า EMA 39 วัน ออกจากค่า EMA 19 วัน
สูตรของ McClellan Oscillator
ดังที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น ในการคำนวณ MO คุณต้องลบค่า EMA 39 วันออกจาก EMA 19 วัน EMA คำนวณโดยระบุความแตกต่างระหว่างจำนวนของหุ้นที่พุ่งขึ้นและร่วงลง เราสามารถย่อขั้นตอนให้ง่ายลงในสูตรเดียวได้ โดยใช้สูตรคำนวณนี้
(EMA 19 วันของจำนวนหุ้นที่พุ่งขึ้น − จำนวนหุ้นที่ร่วงลง) − (EMA 39 วันของจำนวนหุ้นที่พุ่งขึ้น − จำนวนหุ้นที่ร่วงลง)
ในการคำนวณ EMA 19 วัน ให้ใช้สูตรดังต่อไปนี้
(จำนวนหุ้นที่พุ่งขึ้นของวันนี้ − จำนวนหุ้นที่ร่วงลงของวันนี้) ∗ 0.10 + EMA ของวันก่อนหน้า
และในการคำนวณ EMA 39 วัน ให้ใช้สูตรดังต่อไปนี้
(จำนวนหุ้นที่พุ่งขึ้นของวันนี้ − จำนวนหุ้นที่ร่วงลงของวันนี้) ∗ 0.05 + EMA ของวันก่อนหน้า
หากต้องการเปรียบเทียบค่าในช่วงเวลาที่นานขึ้น ให้ใช้สูตรที่ปรับมาแล้วนี้
(EMA 19 วันของ ANA) − (EMA 39 วันของ ANA)
ANA ย่อมาจาก Adjusted Net Advances (การเพิ่มสุทธิที่ปรับแล้ว) และคำนวณจาก
จำนวนหุ้นที่พุ่งขึ้น − จำนวนหุ้นที่ร่วงลง
⎯⎯⎯⎯⎯⎯⎯⎯⎯⎯⎯⎯⎯⎯⎯⎯⎯
จำนวนหุ้นที่พุ่งขึ้น + จำนวนหุ้นที่ร่วงลง
ในการคำนวณ EMA 19 วัน และ EMA 39 วัน สำหรับสูตรที่ปรับแล้ว ให้ใช้
(ANA ของวันนี้ − EMA ของวันก่อนหน้า) ∗ 0.10 + EMA ของวันก่อนหน้า
(ANA ของวันนี้ − EMA ของวันก่อนหน้า) ∗ 0.05 + EMA ของวันก่อนหน้า
วิธีการเทรดด้วย McClellan Oscillator
MO สามารถใช้งานได้หลากหลาย เช่นเดียวกับตัวบ่งชี้การวิเคราะห์ทางเทคนิคส่วนใหญ่ ซึ่งมีหลายวิธีในการคาดการณ์ราคาในอนาคต ตัวบ่งชี้นี้สามารถให้สัญญาณซื้อหรือขายเฉพาะได้ โดยวิธีที่ได้รับความนิยมมากที่สุดคือการวิเคราะห์ไดเวอร์เจนซ์ (Divergence) ของขาขึ้นหรือขาลง ซึ่งไดเวอร์เจนซ์จะปรากฏขึ้นเมื่อตัวบ่งชี้เคลื่อนที่ไปในทิศทางตรงกันข้าม
Bullish Divergence หรือไดเวอร์เจนซ์ขาขึ้น หมายความว่าราคาของดัชนีสร้างระดับต่ำสุดที่ต่ำลง ในขณะที่ตัวบ่งชี้สร้างระดับต่ำสุดที่สูงขึ้น สิ่งนี้เตือนเราว่าแนวโน้มขาลงอาจสิ้นสุดลง ดังนั้น นี่อาจเป็นสัญญาณสำหรับการเปิดตำแหน่ง Buy หรือปิดตำแหน่ง Sell
Bearish Divergence หรือไดเวอร์เจนซ์ขาลง หมายความว่าราคาสร้างจุดสูงสุดที่สูงขึ้น และตัวบ่งชี้สร้างจุดสูงสุดที่ต่ำลง สิ่งนี้เตือนเราว่าแนวโน้มขาขึ้นอาจสิ้นสุดลง ดังนั้น นี่อาจเป็นสัญญาณที่เป็นไปได้ในการเปิดตำแหน่ง Sell หรือปิดตำแหน่ง Buy
MO มีความคล้ายคลึงกับตัวบ่งชี้ Moving Average Convergence Divergence (MACD) ในหลาย ๆ ด้าน
เช่นเดียวกับตัวบ่งชี้ MACD เมื่อ MO ให้ค่าเป็นบวก มักจะเป็นสัญญาณที่เชื่อถือได้ว่าตลาดเหมาะสมที่สุดสำหรับนักลงทุนกระทิง ในทางกลับกัน ค่าลบมักจะเป็นสัญญาณเชิงบวกสำหรับนักลงทุนหมี อีกสิ่งหนึ่งที่ต้องจับตามองคือการพุ่งทะลุที่บ่งชี้ว่าจะมีการเคลื่อนไหวเป็นระยะเวลานานขึ้น โดยจะเป็นแบบพุ่งขึ้นหรือร่วงลงนั้นอยู่กับแรงดึง
การใช้ MO ร่วมกับตัวบ่งชี้อื่น ๆ
แม้ว่าจะสามารถให้ข้อมูลเชิงลึกที่มีค่าได้ แต่การใช้ McClellan Oscillator ร่วมกับตัวบ่งชี้และออสซิลเลเตอร์อื่น ๆ สามารถเพิ่มประสิทธิภาพและให้การวิเคราะห์ที่ครอบคลุมมากขึ้นเกี่ยวกับสภาวะตลาด ด้านล่างนี้ เราจะมาสำรวจการใช้ McClellan Oscillator ร่วมกับเครื่องมืออื่น ๆ เพื่อหาแนวทางในการซื้อขายที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นกัน
- Moving Averages (MA): หนึ่งในวิธีการที่ใช้กันบ่อย ๆ คือการใช้ Moving Averages หรือเส้นค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่กับ McClellan Oscillator โดยการวาง Moving Averages ระยะยาวซ้อนลงไปบนกราฟ McClellan Oscillator เช่น Moving Averages 200 วัน เทรดเดอร์สามารถระบุแนวโน้มโดยรวมและยืนยันสัญญาณซื้อหรือขายที่อาจเกิดขึ้น เมื่อ McClellan Oscillator ตัดข้ามเหนือ Moving Averages ขึ้นไป มันสามารถส่งสัญญาณถึงสภาวะตลาดที่เป็นขาขึ้น และ MO ที่ตัดข้ามใต้ Moving Averages ลงมา อาจบ่งบอกถึงสภาวะตลาดที่เป็นขาลง
- Relative Strength Index (RSI): การใช้ McClellan Oscillator ร่วมกับ RSI สามารถให้การยืนยันเพิ่มเติมสำหรับการกลับตัวของตลาดที่อาจเกิดขึ้น เมื่อ McClellan Oscillator ไปถึงระดับซื้อมากเกินไป (overbought) หรือขายมากเกินไป (oversold) เทรดเดอร์สามารถมองหาไดเวอร์เจนซ์ที่สอดคล้องกันหรือการยืนยันจาก RSI ได้ หาก RSI บ่งชี้สภาวะการซื้อมากเกินไปหรือการขายมากเกินไป มันก็ทำให้สัญญาณการกลับตัวในตลาดแข็งแกร่งยิ่งขึ้น
- การวิเคราะห์ปริมาณ: การวิเคราะห์ปริมาณควบคู่ไปกับ McClellan Oscillator สามารถมอบข้อมูลเชิงลึกที่มีค่าเกี่ยวกับอารมณ์ความเชื่อมั่นของตลาดให้คุณได้ โดยการสังเกตรูปแบบปริมาณระหว่างการตัดกันหรือไดเวอร์เจนซ์ของ McClellan Oscillator เทรดเดอร์สามารถประเมินความแข็งแกร่งหรือความอ่อนแอของการเคลื่อนไหวของตลาดเฉพาะได้ ปริมาณที่สูงขึ้นระหว่างการตัดกันของ McClellan Oscillator ที่เป็นขาขึ้น หรือปริมาณที่ลดลงระหว่างการเกิดไดเวอร์เจนซ์ขาลง (Bearish Divergences) สามารถยืนยันการกลับตัวของแนวโน้มที่อาจเกิดขึ้นได้
กลยุทธ์การเทรดด้วย McClellan Oscillator
McClellan Oscillator เป็นเครื่องมืออเนกประสงค์ที่สามารถใช้ในการพัฒนากลยุทธ์การซื้อขายต่าง ๆ ได้ การทำความเข้าใจเกี่ยวกับแนวทางต่าง ๆ ในการใช้ McClellan Oscillator สามารถทำให้คุณทำกำไรได้เยอะขึ้นจากโอกาสมากมายในตลาด เดี๋ยวเราจะมาสำรวจกลยุทธ์การซื้อขาย McClellan Oscillator ทั่วไปกัน
- กลยุทธ์ Overbought/Oversold: กลยุทธ์หนึ่งที่ได้รับความนิยมเกี่ยวข้องกับการระบุสภาวะ Overbought หรือ Oversold ด้วย McClellan Oscillator เมื่อออสซิลเลเตอร์ถึงระดับสูงสุด มันอาจบ่งชี้ถึงการกลับตัวที่อาจเกิดขึ้น เทรดเดอร์สามารถมองหาการยืนยันอื่น ๆ เช่น รูปแบบการกลับตัวของแท่งเทียนหรือการตัดข้ามเส้นค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ (MA) และเริ่มซื้อขายในทิศทางตรงกันข้ามกับค่าที่อ่านได้ ตัวอย่างเช่น หาก McClellan Oscillator ถึงระดับ Overbought เทรดเดอร์อาจพิจารณาเปิดสถานะ Short หรือทำกำไรจากสถานะ Long
- กลยุทธ์ไดเวอร์เจนซ์: ไดเวอร์เจนซ์เกิดขึ้นเมื่อ McClellan Oscillator เคลื่อนไหวในทิศทางตรงกันข้ามกับการเคลื่อนไหวของราคา Bullish Divergence หรือไดเวอร์เจนซ์ขาขึ้น เกิดขึ้นเมื่อราคาทำจุดต่ำสุดที่ต่ำลง ในขณะที่ออสซิลเลเตอร์ทำจุดต่ำสุดที่สูงขึ้น ซึ่งบ่งชี้ถึงโมเมนตัมขาขึ้นที่เป็นไปได้ ในทางกลับกัน Bearish Divergence หรือไดเวอร์เจนซ์ขาลง จะเกิดขึ้นเมื่อราคาทำจุดสูงสุดที่สูงขึ้น ในขณะที่ออสซิลเลเตอร์ทำจุดสูงสุดที่ต่ำลง ซึ่งบ่งชี้ถึงแรงกดดันที่เป็นขาลงที่อาจเกิดขึ้น เทรดเดอร์สามารถใช้ไดเวอร์เจนซ์เหล่านี้เป็นสัญญาณในการเข้าหรือออกจากการซื้อขายได้ โดยขึ้นอยู่กับทิศทางของไดเวอร์เจนซ์
- กลยุทธ์การยืนยันแนวโน้ม: McClellan Oscillator สามารถนำมาใช้เพื่อยืนยันความแข็งแกร่งของแนวโน้มที่เกิดขึ้นได้อีกด้วย หากออสซิลเลเตอร์ยังคงเป็นบวกอย่างต่อเนื่องในช่วงขาขึ้นหรือเป็นลบในช่วงขาลง มันก็ส่งสัญญาณว่าแนวโน้มมีความสามารถที่จะดำเนินต่อไปได้ เทรดเดอร์สามารถใช้การยืนยันนี้เพื่อถือออเดอร์ต่อไปหรือเพิ่มจำนวนตำแหน่งของพวกเขาได้ ในทางกลับกัน การเปลี่ยนแปลงใน McClellan Oscillator ไปสู่ศูนย์หรือตัดไปยังฝั่งตรงข้ามอาจบ่งบอกถึงการกลับตัวของแนวโน้ม เป็นการกระตุ้นให้เทรดเดอร์ออกจากการซื้อขายหรือพิจารณากลับตำแหน่ง
ข้อจำกัดของ McClellan Oscillator
ในขณะที่ McClellan Oscillator เป็นตัวบ่งชี้ Market breadth ที่มีค่า การเข้าใจข้อจำกัดสามารถช่วยให้เทรดเดอร์ตัดสินใจได้อย่างรอบรู้มากขึ้นและหลีกเลี่ยงข้อผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้น ต่อไปนี้คือข้อจำกัดที่สำคัญบางประการที่ควรพิจารณา
- ตัวบ่งชี้ที่ล่าช้า: เช่นเดียวกับตัวบ่งชี้ทางเทคนิคอื่น ๆ McClellan Oscillator ก็เป็นตัวบ่งชี้ที่ล่าช้า มันอาศัยข้อมูลราคาในอดีตเพื่อสร้างสัญญาณและอาจไม่ได้บ่งชี้ถึงการเปลี่ยนทิศทางของตลาดหรือการกลับตัวของตลาดได้อย่างทันท่วงที เทรดเดอร์ควรใช้มันร่วมกับตัวบ่งชี้และเทคนิคการวิเคราะห์อื่น ๆ เพื่อยืนยันสัญญาณและหลีกเลี่ยงสัญญาณที่ผิดพลาด
- ความไวต่อสภาวะตลาด: ประสิทธิภาพของ McClellan Oscillator อาจแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับสภาวะตลาด ในตลาดที่มีแนวโน้มมันจะทำงานได้ดีมากกว่าตลาดที่ไม่มีทิศทางแน่นอนหรือเคลื่อนที่ออกด้านข้าง ออสซิลเลเตอร์อาจสร้างสัญญาณเท็จหรือไม่สอดคล้องกันในช่วงที่มีความผันผวนต่ำหรือช่วงที่มีการสะสมราคา ซึ่งนำไปสู่การขาดทุนในการซื้อขายได้
- การพึ่งพาข้อมูลแบบกว้าง: McClellan Oscillator ได้มาจากข้อมูลแบบกว้าง โดยเฉพาะจำนวนหุ้นที่พุ่งขึ้นและร่วงลงใน NYSE และ NASDAQ ซึ่งมันอาจไม่สะท้อนถึงความเชื่อมั่นโดยรวมของตลาดอย่างถูกต้อง หากความกว้างของข้อมูลมีการเบ้หรือมีข้อจำกัดในกระบวนการรวบรวมข้อมูล เทรดเดอร์ควรพิจารณาใช้ตัวบ่งชี้ความกว้างเพิ่มเติมและหลักฐานสนับสนุนเพิ่มเติมเพื่อยืนยันสัญญาณที่สร้างโดยออสซิลเลเตอร์
- ความจำเพาะของตลาด: McClellan Oscillator ได้รับการพัฒนาขึ้นเป็นครั้งแรกสำหรับตลาดหุ้นสหรัฐฯ โดยเฉพาะ NYSE และ NASDAQ แม้ว่าจะนำไปใช้กับตลาดอื่น ๆ ได้ แต่ประสิทธิภาพอาจแตกต่างกันไป เทรดเดอร์ควรพิจารณาปรับตัวบ่งชี้และพารามิเตอร์ให้เหมาะสมกับลักษณะเฉพาะและพลวัตของตลาดที่ตนซื้อขาย
ความแตกต่างระหว่าง McClellan Oscillator และ McClellan Summation Index
McClellan Oscillator และ McClellan Summation Index เป็นสองตัวบ่งชี้ที่เกี่ยวข้องกับ Market breadth ที่พัฒนาขึ้นโดย Sherman และ Marian McClellan แม้จะใช้หลักการที่คล้ายคลึงกันและใช้ข้อมูลที่คล้ายคลึงกัน แต่ก็มีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน นี่คือภาพรวมของความแตกต่างเหล่านี้
McClellan Oscillator:
- การคำนวณ: McClellan Oscillator คำนวณโดยใช้ความแตกต่างระหว่างเส้นค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่แบบเอกซ์โปเนนเชียล (EMA) สองเส้นของหุ้นที่ปรับตัวขึ้นและปรับตัวลง ระยะเวลา EMA ที่ใช้กันทั่วไปคือ 19 วัน และ 39 วัน
- การตีความหมาย: McClellan Oscillator แกว่งตัวรอบเส้นศูนย์ โดยค่าบวกบ่งชี้สภาวะตลาดขาขึ้น และค่าลบบ่งชี้สภาวะตลาดขาลง เทรดเดอร์มักจะมองหาไดเวอร์เจนซ์ การตัดข้ามของเส้น หรือตัวเลขที่สุดขั้วเพื่อสร้างสัญญาณการซื้อขาย
- ตัวบ่งชี้ระยะสั้น: McClellan Oscillator ถือเป็นตัวบ่งชี้ระยะสั้น โดยให้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับแนวโน้มของตลาดในระยะสั้นและการกลับตัวที่อาจเกิดขึ้น
McClellan Summation Index:
- การคำนวณ: McClellan Summation Index ได้มาจากค่าที่รวมกันของ McClellan Oscillator มันเพิ่มค่าออสซิลเลเตอร์รายวัน สร้างผลรวมสะสมทั้งหมด
- การตีความหมาย: McClellan Summation Index ให้มุมมองที่กว้างขึ้นเกี่ยวกับ Market breadth และความแข็งแกร่งของแนวโน้ม ช่วยระบุทิศทางตลาดโดยรวมและการคงอยู่ของสภาวะตลาดกระทิงหรือตลาดหมี เทรดเดอร์มักจะมองหาการพุ่งทะลุของเส้นแนวโน้มหรือไดเวอร์เจนซ์เพื่อยืนยันการกลับตัวของแนวโน้มที่อาจเกิดขึ้น
- ตัวบ่งชี้ระยะยาว: McClellan Summation Index ถือเป็นตัวบ่งชี้ระยะยาว ซึ่งนำเสนอข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับแนวโน้มของตลาดในระยะยาวและการเคลื่อนไหวที่ยั่งยืน
ความแตกต่างที่สำคัญ:
ข้อแตกต่างที่สำคัญระหว่าง McClellan Oscillator และ McClellan Summation Index อยู่ที่กรอบเวลาและข้อมูลที่จะได้จากตัวบ่งชี้ McClellan Oscillator มุ่งเน้นไปที่สภาวะตลาดในระยะสั้นและส่งสัญญาณให้บ่อยกว่า ในขณะที่ McClellan Summation Index นำเสนอมุมมองที่กว้างขึ้นเกี่ยวกับแนวโน้มระยะยาวและ Market breadth
สรุป
McClellan Oscillator เป็นตัวบ่งชี้ Market breadth ที่มีประสิทธิภาพซึ่งช่วยให้เทรดเดอร์สามารถวิเคราะห์ทิศทางตลาดและการกลับตัวที่อาจเกิดขึ้นได้ โดยจะคำนวณความแตกต่างระหว่างเส้นค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่แบบเอ็กซ์โปเนนเชียลในระยะสั้นและระยะยาว เพื่อสร้างค่าบวกหรือค่าลบ และระบุว่าเป็นแนวโน้มขาขึ้นหรือขาลง
โดยจากการระบุไดเวอร์เจนซ์ที่เป็นขาขึ้นหรือขาลงและสภาวะซื้อมากเกินไป/ขายมากเกินไป ทำให้เทรดเดอร์สามารถคาดการณ์การกลับตัวของแนวโน้มและเปิดตำแหน่งตามนั้นได้ การใช้ออสซิลเลเตอร์ร่วมกับตัวบ่งชี้อื่น ๆ เช่น Moving Averages, RSI และการวิเคราะห์ปริมาณช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้กับตัวบ่งชี้ได้
McClellan Oscillator เป็นเครื่องมืออเนกประสงค์สำหรับเทรดเดอร์สวิงและเทรดเดอร์ระยะยาว การเชี่ยวชาญด้านการคำนวณ การติดตั้ง และกลยุทธ์การซื้อขายสามารถช่วยให้ตัดสินใจได้ดีขึ้นและปรับปรุงประสิทธิภาพการซื้อขายได้ อย่างไรก็ตาม การฝึกบริหารความเสี่ยงและการปรับกลยุทธ์ให้เข้ากับสภาวะตลาดที่เปลี่ยนแปลงไปก็เป็นสิ่งสำคัญ
อัปเดทแล้ว • 2023-07-14
บทความอื่นๆ ในส่วนนี้
- กลยุทธ์การซื้อขายด้วยตัวบ่งชี้ Aroon
- ความแข็งแกร่งของสกุลเงิน
- กรอบเวลาที่ดีที่สุดสำหรับการเทรด
- Renko chart
- ประเภทของแผนภูมิ
- จะใช้ Heikin-Ashi อย่างไร?
- นโยบายผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE)
- Pivot Points
- ตัวบ่งชี้ ZigZag คืออะไร?
- Moving Average: วิธีง่ายๆในการหาเทรนด์
- Williams’ Percent Range (%R)
- Relative Vigor Index (ตัวบ่งชี้ RVI) คืออะไร?
- โมเมนตัม
- Force index
- ตัวบ่งชี้ Envelopes คืออะไร?
- Bulls Power และ Bears Power
- Average True Range
- จะเทรดจากการตัดสินใจของธนาคารกลางอย่างไร?
- CCI (Commodity Channel Index)
- Standard deviation
- Parabolic SAR
- การซื้อขายด้วย Stochastic Oscillator
- Relative Strength Index (RSI)
- MACD (Moving Average Convergence/Divergence)
- ออสซิลเลเตอร์
- ตัวบ่งชี้ ADX: วิธีใช้สำหรับการวิเคราะห์แนวโน้ม Forex อย่างมีประสิทธิภาพ
- Bollinger bands
- ตัวบ่งชี้เทรนด์
- การแนะนำตัวชี้วัดทางเทคนิค
- แนวรับและแนวต้าน
- แนวโน้ม
- การวิเคราะห์ทางเทคนิค
- ธนาคารกลาง: นโยบายและผลกระทบ
- ปัจจัยพื้นฐาน
- การวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานในการเทรด Forex และการเทรดหุ้น
- การวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐาน vs การวิเคราะห์ปัจจัยทางเทคนิค